



หลักฐานสำคัญที่จะทำให้คุณทึ่งในอดีตของเมืองน่านกับความเป็นเมืองเก่าและอู่อารยธรรมอีกแห่งหนึ่งของไทย คือ แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก ซึ่งมีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตในลักษณะเฉพาะของตัวเองและน่าจะได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะมีการขุดพบตามแหล่งฝังศพของคนในสมัยก่อนโดยเฉพาะแถบเทือกเขาในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดตากและกำแพงเพชร การผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกนี้เริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยเจ้าพระยาพลเทพฤาชัย ( พ.ศ. 2071-2102) ซึ่งเมืองน่านในยุคนั้นถือว่ามีความรุ่งเรืองมากมีวิทยาการเตาเผาและเครื่องเคลือบเมืองน่านล้ำสมัย และได้รับอิทธิพลจากกลุ่มสันกำแพง กลุ่มกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาใกล้นครเชียงใหม่ เตาเผาแห่งนี้ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จัดเป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร อยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ มีลักษณะเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อความสะดวกในการขนส่งในสมัยนั้น นอกจากนี้ภายในมีลักษณะเป็นโพรงใหญ่พอให้คนเข้าไปข้างในได้ ตัวเตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน ปัจจุบันเตาโบราณทั้ง 2 เตานี้ ได้รับการบูรณะและก่อสร้างอาคารถาวรคลุมเอาไว้ ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้านจ่ามนัสนั้นจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผาแหล่งนี้