วัดไทลื้อเก่าแก่ของหมู่บ้านหนองบัวแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. 2405 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย สถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ – ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ที่เล่าเรื่องปัญญาชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่า เขียนโดย “หนานบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุ ชื่อนายเทพ ซึ่งเป็นทหารของเจ้าอนันตยศ (เจ้าเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2395-2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง และยังมีนายเทพและพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนภาพจนสำเร็จ ภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลและผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม – บุษบกสมัยล้านนา ที่เก็บรักษาภายในพระอุโบสถ – บ้านจำลองไทลื้อ (เฮือนไทลื้อมะเก่า) ซึ่งมีอุปกรณ์การประกอบอาชีพของชาวไทลื้อจัดแสดงไว้ – การสาธิตการทอผ้าด้วยกี่กระตุก ที่คนในหมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิต และเลือกซื้อผ้าทอสีสันสวยงามจากฝีมือชาวบ้าน โดยตั้งอยู่บริเวณด้านนอกของพระอุโบสถ