



ในสมัยโบราณนั้น แนวคิดการเลือกชัยภูมิถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งนักไม่ว่าจะปลูกสร้างสิ่งใดก็ตาม และวัดนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดนี้ประจักษ์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งอยู่บนเนินสูง ที่มองเห็นหมู่บ้านเบื้องล่างโอบล้อมด้วยผืนป่า หากมาในช่วงฤดูฝน จะพบความงามของผืนนาเขียวขจีเต็มพื้นที่ วัดพระธาตุเบ็งสกัดตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่า พระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณ หรือเมืองวรนคร เพื่อให้เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครอง และคำว่า “เบ็งสกัด” นั้น หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง จึงเป็นที่มาของชื่อพระธาตุแห่งนี้ สถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ องค์พระเจดีย์อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สถาปัตยกรรมสกุลช่างน่าน อันเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน ทั้งนี้ องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1826 วิหารทรงตะคุ่มแบบศิลปะพื้นบ้านไทลื้อ หรือที่เรียกว่า “ทรงเตี้ยแจ้” มีหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้สักทอง) มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้าง ได้รับการบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศ และโปรดให้นำพระแก้วซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ องค์พระประธานอันเป็นศิลปะแบบพื้นบ้าน ประดิษฐานบนฐานชุกชี ด้านหลังองค์พระ ติดกระจกเงาตามความเชื่อของชาวไทลื้อ ส่วนบานประตูไม้จำหลักเป็นศิลปะพื้นเมืองน่าน