วันจันทร์ ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
โทรศัพท์กำชับผู้ว่าฯอยุธยา
‘บิ๊กป้อม’ฟิตจัด
เร่งแก้นําท่วม-ช่วยเหลือปชช.
‘ชัชชาติ’ห่วงน้ำเหนือไหลรวมน้ำหนุน
ฤทธิ์‘หมาอ๊อน’ยังจม21จว.
เดือดร้อน1.9หมื่นครัวเรือน
แม่น้ำยม-น่านเสี่ยงล้นตลิ่ง
อุตุฯชี้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักภาคใต้ ด้าน ปภ.เผยอิทธิพลพายุ “หมาอ๊อน” ส่งผลให้น้ำท่วม 21 จังหวัด เกิดวาตภัย 12 จังหวัด ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ฟิตจัด ต่อสายตรงวันหยุดถกพ่อเมืองกรุงเก่า เร่งแก้น้ำท่วม สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยผู้ประสบภัย ระดม สส.ลงพื้นที่ติดตามช่วง 3 เดือน ยังมีมรสุมเข้าไทย
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุมและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านพื้นที่ลุ่ม
ปภ.เผย‘หมาอ๊อน’ทำน้ำท่วม21จว.
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าช่วงวันที่ 24-28 สิงหาคม 2565 มีพื้นที่รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน‘หมาอ๊อน’ รวม 21จังหวัด 47 อำเภอ 162 ตำบล 621 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 19,630 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย)และวาตภัยรวม 12 จังหวัด 22 อำเภอ 40 ตำบล 72 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 91ครัวเรือนภาพรวมสถานการณ์วาตภัยยุติแล้วในทุกจังหวัด ส่วนเหตุอุทกภัยในบางพื้นที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น บางจุดระดับน้ำยังทรงตัว ประสานพื้นที่เร่งระบายน้ำและดูแลผู้ประสบภัยแล้ว
ยังคงสถานการณ์อยู่รวม11จังหวัด
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 11 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา นครนายก พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 23 อำเภอ 106 ตำบล 405 หมู่บ้าน ส่วนวาตภัยในพื้นที่ 12จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ตราด ปราจีนบุรีและอ่างทอง ปัจจุบันสถานการณ์ยุติแล้วในทุกจังหวัด สำหรับการแก้ปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ และดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
บิ๊กป้อมฟิตเร่งแก้น้ำท่วมกรุงเก่า
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์สายตรงพูดคุยกับนายวีระชัย นาคมาศ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยและเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดย พล.อ.ประวิตร กำชับและสั่งการให้เร่งรัดให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ระดับน้ำไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน
มอบกรมชลฯ-ปภ.เร่งช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน และกรมป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) ตรวจสอบเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบไฟ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว ขณะเดียวกัน ต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทันที ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ปภ.หน่วยทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานจิตอาสา ในการอำนวยความสะดวกในการสัญจร สิ่งของที่จำเป็นการในดำรงชีพ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านสุขภาพที่อาจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเป็นปกติ
7อำเภออยุธยาได้รับผลกระทบ
สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยาปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางไทร อ.พระนครศรีอยุธยา และอ.ท่าเรือ รวม 75 ตำบล 340 หมู่บ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ออกหนังสือแจ้งเตือน สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ไปยัง ผวจ.11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าแล้ว พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับสทนช.ให้บูรณาการบริหารจัดการน้ำในการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไปทางฝั่งตะวันตก ตะวันออก และท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเชื่อมโยงไปแต่ละจังหวัดที่มีทางน้ำผ่านไปสู่ทะเลซึ่งรวมถึงกทม.เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด
สั่งระดมส.ส.ลงพื้นที่เสี่ยงท่วม
ขณะที่ น.ส.พัชรินทร์ซำศิริพงษ์ ส.ส.เขต 2 กทม.และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ที่ต้องเป็นพื้นที่รับน้ำจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีปริมาณการปล่อยน้ำในระดับ 1,500 -1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่งผลต่อน้ำท่วมเข้าพื้นที่ทำการเกษตรและบ้านเรือนประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีความห่วงใยประชาชนในผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงมอบหมายให้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ในพื้นที่เร่งประสานงานและติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมา นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.เขต 3 นครสวรรค์ และนายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.เขต 3 พิจิตร พรรคพลังประชารัฐ ได้ลงพื้นที่เข้าให้ความช่วยเหลือ พร้อมรับฟังข้อมูลและปัญหาของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับประสานงานกับหน่วยงาน บูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายใต้การดำเนินการ 13 มาตรการของแผนการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่แต่ละลุ่มน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ให้หัวหน้าพรรคฯ รับทราบ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังการเร่งระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
ชี้3เดือนฤดูมรสุมอาจมีพายุอีก
“ในระยะ3เดือนที่เหลือของปีนี้ ถือเป็นช่วงฤดูมรสุมที่การพยากรณ์และคาดการณ์จะมีพายุพาดผ่านอีกหลายลูก ซึ่งจะมีปริมาณฝนมากและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ได้ อาจสร้างผลกระทบ และเป็นภัยพิบัติต้องมีการเตรียมรับมือ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ดำเนินงานตามมาตรการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึงเพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง” น.ส.พัชรินทร์ กล่าว
เตรียมอพยพปชช.ถูกท่วมฉับพลัน
นอกจากนี้ยังได้เตรียมการแนวทางการประสานงานเพื่อการอพยพประชาชนในกรณีภาวะฉุกเฉิน หากเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลัน เพื่อช่วยเหลืออพยพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย พร้อมกับประสานศูนย์ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของอบต.และจังหวัด รวมทั้งวางแผนระยะยาวที่จะเก็บกักปริมาณน้ำที่มีมาก มาใช้ช่วงน้ำแล้งด้วย
อย่างไรก็ดี พรรคพลังประชารัฐ ไม่เคยนิ่งนอนใจในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆเพื่อรายงานผลไปยังผู้นำชุมชนและชุมชน ให้เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่มีพายุเข้าสู่ประเทศไทย และฝนตกหนักติดต่อกัน เห็นได้จากอิทธิพลพายุมู่หลานที่สร้างผลกระทบให้กับบ้านเรือนในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ซึ่งพล.อ.ประวิตร ได้ลงพื้นที่และมีการเร่งแผนฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย ให้กลับมาใช้ได้ปกติ โดยอาศัยการเบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ ช่วยเหลือจังหวัดเพิ่มเติม ควบคู่กับให้ ส.ส.ในพื้นที่ใกล้เคียง ติดตามความช่วยเหลือในเรื่องการสนับสนุนสิ่งของจำเป็น
โร่เตือนลำน้ำยม-น่านจ่อล้นตลิ่ง
ส่วนนายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนที่ตกในภาคเหนือตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากจาก จ.แพร่ เข้าสู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์มีมวลน้ำที่ควบคุมได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที และผ่านตัวเมืองสุโขทัยควบคุมได้ 420 ลบ.ม.ต่อวินาทีดังนั้นน้ำส่วนเกินจึงต้องระบายน้ำลงสู่คลองสาขา เข้าสู่ จ.พิษณุโลก และไหลต่อมายังพื้นที่ลุ่มน้ำยมของ จ.พิจิตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม จึงมีปริมาณน้ำสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ต่ำกว่าตลิ่งเพียงไม่ถึง 1 เมตร ก็จะล้นตลิ่ง เช่นเดียวกับแม่น้ำน่านที่ อ.บางมูลนาก ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ต่ำกว่าตลิ่งเพียงแค่ 1 เมตรเศษ เช่นเดียวกัน
ให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์
นายเอกฉัตร เปิดเผยด้วยว่า ต้องขอให้เกษตรกรติดตามการพยากรณ์อากาศว่า ถ้าหากมีฝนตกต่อเนื่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนหรือในเขต จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.กำแพงเพชร ก็อาจจะทำให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้ามายังพื้นที่ จ.พิจิตร ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มได้ ดังนั้นช่วงนี้ จึงขอเตือนชาวนา หรือพื้นที่ปลูกข้าวฝั่งขวาของแม่น้ำยมขอให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะคาดการณ์ว่า ภายใน 2-3 วันนี้ หากมีฝนตกภาคเหนือตอนบนต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มของ ต.รังนก ของ อ.สามง่าม ซึ่งจะกลายเป็นทุ่งรับน้ำเหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา