เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“น่าน” หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่อยู่ในใจของหลายคน ด้วยความรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตอันเรียบง่าย พร้อมด้วยวัดวาอาราม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามไม่น้อยหน้าที่ไหนๆ
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ชวนให้เข้าไปสัมผัสก็คือ ภาษาเขียน หรือที่เราเรียกกันว่า “ตั๋วเมือง”
“ตั๋วเมือง” หรือ “ตัวเมือง” เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารของชาวล้านนา ใช้เป็นภาษาที่เขียนในหนังสือทางราชการของอาณาจักรล้านนา ในช่วงประมาณ 700 ปีที่ผ่านมา ดังที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ ทั้ง ศิลาจารึก ปั๊บสา และคัมภีร์ใบลาน
ปัจจุบันผู้ที่อ่านออกเขียนได้ “ตั๋วเมือง” มีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากไม่ใช่อักษรที่ใช้กัน แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงร่วมกันอนุรักษ์สืบสานวิธีการอ่าน และการเขียนอักษรเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป นั่นคือ “หนานโชติ” หรือ บุญโชติ สลีอ่อน ปราชญ์ชุมชน ศิลปินวาดภาพที่สนใจการเขียนอักษรล้านนา
“หนานโชติ” ถือเป็นครูภูมิปัญญาที่สนใจการเขียนอักษรล้านนา ได้ศึกษาและทำความเข้าใจการเขียนอย่างถ่องแท้ และได้การเปิดสอนเรียนให้แก่ผู้ที่สนใจการเขียนอักษรล้านนา ได้มาเรียนรู้การเขียนกับตัวเองอีกด้วย
โดยนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชม และสอบถามเกี่ยวกับการเรียนเขียนตั๋วเมืองได้ที่ “บ้านตั๋วเมืองคุ้ม๙” ซึ่งเริ่มแรกจะได้รู้จักกับตัวอักษรล้านนา การเทียบเสียงกับอักษรไทย การเขียนคำต่างๆ จวบจนไปถึงได้ทดลองเขียนชื่อของตนเองลงบนแผ่นกระดาน โดยมีหนานโชติจะตรวจดูคำถูกคำผิดและแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนลงมือเขียนจริงด้วยพู่กันจุ่มสีและนำไปเขียนบนผืนผ้ากระเป๋าย่าม เป็นการเพิ่มลวดลายด้วยชื่อตนเอง เพิ่มเอกลักษณ์ว่ากระเป๋าย่ามใบนี้มีชิ้นเดียวในโลก
สำหรับ ภาษาล้านนา หรือ ตัวเมือง สันนิษฐานว่า มีต้นกำเนิดมาจากอักษรมอญ ศาสตราจารย์ ยอร์ชเซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญอักษรไทยโบราณ ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “ตำนานอักษรไทย” ว่า อักษรล้านนามาจากอักษรมอญ ซึ่งข้อเสนอนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เพราะอักษรมอญเป็นต้นแบบของอักษรในภูมิภาคนี้ เช่น อักษรพม่า อักษรไทใหญ่ อักษรไทอาหม อักษรไทลื้อ อักษรไทเขิน และอักษรไทอีสาน แต่ว่าอักษรมอญไม่มีรูปและ เสียงวรรณยุกต์ ดังนั้นเมื่อชาวล้านนานำมาใช้จึงไม่มีรูปวรรณยุกต์ตามภาษามอญ
ภาษาล้านนา มีลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่แสดงออกถึงความเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในด้านต่างๆ คือ รูปแบบอักษร ความเป็นเอกลักษณ์ในรูปของ อักษรต่างๆ ที่สามารถเขียนได้ทั้งเต็มรูป และลดรูป หรือแม้แต่ใช้สัญลักษณ์แทน ซึ่งผู้ที่มีความชำนาญ ด้านภาษาล้านนามักจะมีรูปแบบการเขียนอักษรล้านนา ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ในอดีตอักขระ ภาษาล้านนา แบ่งเป็น สระ และ พยัญชนะ คล้ายกับ ภาษาบาลี โดยพยัญชนะ มีทั้ง วรรค และเศษวรรค เหมือนภาษาบาลี แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์เทียบกับ ภาษาไทยกลาง จึงทำให้มีพยัญชนะเพิ่มขึ้น ส่วนสระ มีทั้งสระลอย 8 ตั้งที่สามารถออกเสียงเองได้ และ สระอาศัยที่ต้องอาศัยพยัญชนะจึงออกเสียงได้ อักษรไทยที่ปรากฏเป็นการถ่ายอักษรเท่านั้น เสียงจริงของอักษรแสดงไว้ในสัทอักษรสากลซึ่งอาจจะ ออกเสียงต่างไปจากอักษรไทย
ส่วน “ภาษาพูด” หรือการอ่านออกเสียง ภาษาล้านนาก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปจากท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความงดงามด้านภาษา สำเนียงการพูดของชาว เชียงใหม่ ลำพูน และลำปางบางส่วน มีสำเนียงคล้ายกัน คือ พูดช้าๆ ลากเสียง ส่วน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และแม่ฮ่องสอนบางส่วน มีสำเนียงคล้ายกัน คือ พูดออกเสียงสั้นๆ
และ “การผสมอักษร” ภาษาล้านนามีรูปแบบการผสมคำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ต้องอาศัย ความเชี่ยวชาญ และการสังเกต เพราะบางครั้งผู้เขียนๆ เพียงสั้นๆ แต่ใช้การซ้อนสระและพยัญชนะไว้ในตัวเดียวกันกับ สามารถอ่านได้ยาว หรือบางครั้งสามารถผสมกับอักษรที่อยู่ถัดไปได้ เรียกว่าตัวบ่ม ตั๋วไหล ดังนั้น ผู้ที่จะ สามารถอ่านภาษาล้านนาได้ต้องอาศัยการสังเกตและอาศัยความชำนาญพอสมควรจึงจะสามารถอ่านได้ ถูกต้อง และสื่อความหมายได้ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ บางครั้งในการเขียนเอกสารสำคัญที่ไม่ต้องการ ให้ผู้อื่นรู้ความหมาย ผู้เขียนก็จะใช้การใส่รหัสที่รู้เฉพาะตน หรือกลุ่มของตนเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าใจความหมายได้ โดยเฉพาะตำรายา และตำรายันต์ต่างๆ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจการเรียนเขียน “ตั๋วเมือง” หรือ ภาษาล้านนา สามารถติดต่อได้ที่ “บ้านตั๋วเมืองคุ้ม๙” เลขที่ 9 ซอย 5 ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โทร. 08-9852-5457
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ “>Youtube :Travel MGR และ “>Instagram : @travelfoodonline และ “>TikTok : @travelfoodonline