เจาะลึกแนวคิดและวิธีการทำงานของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย ด้านการเพิ่มขีดความสามารถและการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้องค์ความรู้ เพื่อความยั่งยืน หัวใจคือเน้น “การสื่อสาร” ร่วมกับชุมชนในภาคเกษตร สู่การพัฒนาให้แข่งขันได้ ต่อยอดจากงานสัมมนา ภาคธุรกิจไทย ในวิถี “ยั่งยืน” โดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่ง“นายกลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้มุมมองด้านความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ คือ 1. ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 2. การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เดินหน้าไปได้ถือว่าเข้าใกล้ความยั่งยืนแล้ว
เราได้พูดคุยกับประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงการทำงานร่วมกับชุมชนที่ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นผลเชิงประจักษ์ โดยนายกลินท์ เผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ เน้นย้ำเรื่องนโยบายชัดเจนในเรื่องของความยั่งยืน (sustainability) ในฐานะที่เป็นภาคธุรกิจ และยังส่งเสริมการทำธุรกิจและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อความยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการส่งเสริมทางด้านการเกษตร ทั้งในรูปแบบปลูกเพื่อนำไปขาย หรือการปลูกเพื่อนำไปแปรรูป รวมไปถึงโครงการที่เน้นการท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้กับเกษตรกร โดยนำโครงการ ‘หนึ่งไร่ หนึ่งแสน’ ปรับมาเป็นโครงการ ‘หนึ่งไร่ หนึ่งล้าน’ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ชุมชนได้รับความสำเร็จ เน้นการทำเกษตรที่ใช้ต้นทุนต่ำ ขณะเดียวสามารถเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรที่เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง และต้องเป็นที่ต้องการของตลาด
‘หนึ่งไร่ หนึ่งล้าน’ พันธกิจยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น
การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างทั่วถึงในทุกระดับ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จคือ “การสื่อสาร” ต้องให้ชัดเจนว่ามีความเห็นอย่างไร และต้องทำให้ “เกิดขึ้นจริง”
“โครงการที่ประสบความสำเร็จทางด้านการไปแปรรูปสินค้าทางการเกษตร อย่าง “โครงการน่าน พรีเมียม คอฟฟี่” ที่เราเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชนอย่างครบวงจร ปลูกกาแฟเปลี่ยนภาพภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นไร่กาแฟ ในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา มีการเก็บผลผลิต ถ้าเป็นกาแฟธรรมดารายได้อยู่ที่ 40,000 บาท/ไร่ แต่เมื่อนำมาผ่านกระบวนการคั่วกาแฟ นำสินค้าไปแปรรูปและการจัดจำหน่ายจะตกอยู่ที่ 200,000 บาท/ไร่ และหากสินค้าไปจำหน่ายในรูปแบบร้านกาแฟ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี Automatic Coffee Machine เข้ามาช่วยเหลือด้านการจำหน่ายกาแฟของเกษตรกร โดยรวมแล้วเกษตรกรจะมีรายได้อยู่ที่ 1 ล้านบาท/ไร่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอาชีพให้กับผู้ที่ขาดรายได้ในชุมชนอีกด้วย
“เมื่อกาแฟประสบความสำเร็จ เราก็ต่อยอดไปที่ “โครงการน่าน พรีเมียม โกโก้” จากจุดเริ่มต้นของสมาชิกสภาหอการค้า Cocoa Valley อ.บางปัว เน้นการผลิตเมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพ สามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดจำหน่ายทั่วไป การแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง รวมไปถึงการนำไปแปรรูปเป็นช็อกโกแลต นอกจากจะให้ผลประกอบการ รายได้ หรือกำไรได้เป็นอย่างดีในหลายปีที่ผ่านมาแล้ว รายได้ส่วยหนึ่งจากโครงการเหล่านี้เราได้นำคืนสู่ภาคเกษตรกร ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่องการเพิ่มมูลค่า เช่น ผลผลิตโกโก้ปกติธรรมดาถ้ามาจำหน่ายจะมีราคาอยู่ที่ 200,000 บาท/ไร่ แต่หากนำโกโก้มาตากแห้งและบดจะได้ราคาอยู่ที่ 500,000 บาท/ไร่ ทั้งยังสามารถนำโกโก้มาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นน้ำมัน ผลิตเป็นเครื่องสำอางทาผิว ราคาอยู่ที่ 1 ล้านบาท/ไร่ และเศษโกโก้ที่เหลือยังนำมาผลิตเป็นช็อกโกแลตมีราคาอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท/ไร่” นายกลินท์ อธิบายภาพการทำงาน
ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการหนึ่งไร่ หนึ่งล้าน ด้วยการให้ชาวบ้านมาช่วยทำโครงการเริ่มจากจ.น่านแล้วประสบความสำเร็จอย่างดี จึงนำมาเป็นโมเดลประยุกต์ใช้ในหลายจังหวัดต่อมา เช่น จังหวัดสุโขทัย ที่นำ ‘จิ้งหรีด’ พัฒนาการเลี้ยงในระบบปิด เพื่อให้ได้จิ้งหรีดที่สะอาดและมีคุณภาพ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารให้โปรตีนส่งขายทั้งในและต่างประเทศ หรือจังหวัดสกลนคร ที่นำเทคโนโลยีไบโอ ฟลอค (Biofloc Technology) หรือการนำตะกอนจุลินทรีย์ มาช่วยกำจัดของเสียในบ่อเลี้ยงปลา ให้กลายเป็นของดีที่มีประโยชน์มาช่วยในการเลี้ยงปลา และจัดการระบบการเลี้ยงปลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลปลาที่เลี้ยงในระบบนี้สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมได้อีกด้วย
ต่อมาที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีการนำผลไม้ทางเลือก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อย่าง ‘อินทผลัม’ มาปลูกเป็นผลไม้สดเพื่อจัดจำหน่ายในชื่อโมเดล “อินทผลัม บ้านนา บ้านเรา” สร้างรายได้เรียกว่าเป็นผลไม้แก้จนให้เกษตรกรได้ดี ในขณะเดียวกันที่จังหวัดกาญจนบุรี จะเน้นการปลูกอินทผลัมเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำอินทผลัม ส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีการปลูก ‘อโวคาโด’ ในโมเดล อโวคาโด ไร่ยังคอย ผลงานธุรกิจสตาร์ทอัพของชาวพื้นเมืองที่ต่อยอดงานวิจัย สู่การสร้างธุรกิจ ตอนนี้เป็นที่ยอมรับอย่างดีและสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรหลักล้าน
‘ทัศนคติ-เงินทุน-ทำต่อเนื่อง’ หัวใจสร้างชุมชนอยู่ดีกินดี
เมื่อถามว่าปัญหาการทำงานร่วมกับชุมชนและเกษตรกรคืออะไร? นายกลินท์ บอกว่า “เราทำงานร่วมกับเกษตรกรมานานแล้ว ส่วนวิธีการทำงานก็คือ เราเข้าถึงเกษตรกรเพื่อร่วมพูดคุยกับเขา หาสาเหตุของปัญหาและนำมาแก้ไข เราจะเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง เราต้องการอัพสกิลของเกษตรกร จนเป็นที่มาของโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อชุมชนอย่าง ‘หนึ่งหอการค้า หนึ่งสหกรณ์การเกษตร’ โดยมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ซึ่งหากเราทำให้หนึ่งสหกรณ์ประสบความสำเร็จก็เท่ากับช่วยเหลือชาวบ้านได้มากขึ้นด้วย เราช่วยไปเยอะและที่มีชื่อเสียงก็คือ สหกรณ์การเกษตร ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่มีเงินฝากหลักพันล้าน ซึ่งนำโมเดลการบริหารนี้ไปใช้กับสหกรณ์การเกษตรแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย”
อย่างไรก็ตามในการทำงานหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคเบื้องต้นของการทำงานร่วมกับชุมชนก็คือ “ทัศนคติ” ของคนในชุมชนที่เคยชินกับการทำการเกษตรแบบเดิม การเข้าไปเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่จึงค่อนข้างต้องใช้เวลา จึงทำผ่านสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อให้คนในชุมชนได้ศึกษา เรียนรู้ และวิธีการใหม่ๆ ให้เขาได้ศึกษาและเข้าใจด้วยตนเอง พร้อมเป็นพี่เลี้ยงเข้าไปทำงานในชุมชน อีกเรื่องหนึ่งคือ “งบประมาณ” ซึ่งอาจทำให้โครงการที่เคยทำไปแล้ว ซึ่งทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย ได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงไทย และธนาคาร SME เข้ามาช่วยอุดในเรื่องของงบประมาณด้านการเกษตร และปัญหาสุดท้ายคือ “ขาดความต่อเนื่องของโครงการ” เราจึงแก้ปัญหานี้โดยให้หอการค้าและสภาหอการค้าแต่ละจังหวัดกำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรในแต่ละจังหวัดมีการทำอย่างต่อเนื่อง
นายกลินท์ กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดของการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนก็คือ เราพยายามจะบอกว่าที่เราไปช่วย อย่างแรกเราต้องการจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ด้วยเทคโนโลยี ใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ ในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันต้องรู้ว่าต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่ สามารถทำบัญชีได้ และทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้การตลาดนำการผลิต และสุดท้ายคือการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ กลับคืนสู่ถิ่น โดยเน้นการทำเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้เห็นถึงความสำเร็จของการำเกษตรสมัยใหม่ และนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
“การกลับคืนถิ่นในช่วงวิกฤตเป็นหนึ่งทางรอดของเกษตรกรรุ่นใหม่ เราอยากแนะนำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ทำการเกษตร มีรายได้ด้วย และทำให้ชุมชนในท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้นด้วย เราสื่อสารให้เห็นว่าถ้าเขาทำแล้วเขาจะมีรายได้อย่างต่อเนื่องด้วย เราช่วยสอนให้ได้ เรามีตัวอย่างให้ศึกษาสามารถเข้ามาปรึกษาหอการค้าจังหวัดหรือหอการค้าส่วนกลางได้เลย”
หอการค้าฯ ยึดหลัก ESG ผลักดันธุรกิจไทยยั่งยืน
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายของการทำงานเพื่อความยั่งยืนที่ทำงานภายใต้กรอบ 3 ด้าน ประกอบด้วย ESG (environment สิ่งแวดล้อม, social สังคม, governance ธรรมาภิบาล) ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การทำงานที่มุ่งเน้นดูแล เอาใจใส่สิ่งแวดล้อม ซึ่งทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทยเองก็ทำงานภายใต้นโยบาย BCG ของภาครัฐ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เรื่องขยะจากอาหาร (Food Waste) ตลอดจนการส่งเสริมลดมลพิษทางอากาศด้วยการรับซื้อฟางข้าว ใบอ้อยจากเกษตรกร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด และ พ.ร.บ. ส่งเสริมนำวัสดุธรรมชาติมาใช้
เรื่องที่สอง ด้านดูแลสังคม เราส่งเสริมนโยบายด้านส่งเสริมอาชีพคนพิการในท้องถิ่น ซึ่งทำมาเป็นปีที่ 8 แล้ว ยกตัวอย่างเราสอนอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผักปลอดสารพิษ ให้ผู้พิการในชุมชน ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 คนที่เข้ามาร่วมโครงการกับเรา และกระจายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ สระแก้ว ราชบุรี สกลนคร นครราชสีมา ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และส่วนสุดท้าย ด้านธรรมาภิบาล เราคิดว่าเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตนั้นสำคัญมาก เราจึงมีการแจกรางวัล คือ การเน้นความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน โดยยกตัวอย่างองค์กรที่ได้รับรางวัล “โครงการจรรยาบรรณดีเด่น” เราทำเป็นปีที่ 18 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจการบริหารธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี และให้ความรู้ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ในระยะเวลา 18 ปี เราให้รางวัลไปแล้ว 190 บริษัท ซึ่งเป็นองค์กรแบบอย่างที่ธุรกิจควรทำตาม นอกจากนี้ยังจูงใจให้ผู้ลงทุนมองเห็น
จากสามเรื่องนี้จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืนได้ ถ้าเราขาดปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งก็อาจจะทำไม่สำเร็จได้ ตอนนี้ความโปร่งใส การดูแลสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมสำคัญมาก
ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้ายพร้อมให้คำแนะนำสำหรับการธุรกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า “ต้องรู้จักการปรับตัว ต้องเปิดหูตาให้กว้างเพื่อมองหาโอกาสใหม่ ๆ กลับมาดูว่าเรามีศักยภาพด้านไหน ประเมินตนเองว่าเราทำได้เลยหรือเปล่า ถ้าคิดว่าทำได้ ต้องทำเลย อย่าคอย ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาต้นทุนที่มีอยู่ ทั้งเรื่องของงบประมาณลงทุน สายป่าน การใช้หนี้ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อย่าเกินตัว ข้อสำคัญคือความสามารถและสิ่งที่เรากำลังจะทำเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ข้อนี้สำคัญมาก”