ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยฝ่ายสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงกรณี นายธเนศ ตาชม ได้ร้องเรียนและกล่าวอ้างว่าผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ไม่ดำเนินการออกประกาศของจังหวัดให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-ลาว บ้านน้ำปี้ หมู่ที่ 5 ต.น้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน ตามมติคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่อนปรน และหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ให้จังหวัดน่านดำเนินการ เมื่อปี 2556 ส่งผลให้ผู้ร้องเรียนและชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน
โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายอำเภอเวียงสา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดน่าน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ฝ่ายปกครองอำเภอเวียงสา กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 324 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและรายงานผลการดำเนินงาน ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน
ซึ่งฝ่ายผู้ร้องเรียน ประกอบด้วย นายธเนศ ตาชม ทนายความ พร้อมด้วย นายสุนทร มหาวงศนันท์ อดีตนายอำเภอเวียงสา ตัวแทนผู้ประกอบการและชาวบ้าน ได้ชี้แจงถึงความต้องการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านน้ำปี้และขอเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งเป็นหมู่บ้านแนวชายแดนติดกับ บ้านแค่น เมืองทุ่งมีไช แขวงไซยะบุลี สปป.ลาว โดยขอให้มีการเปิดจุดผ่อนปรน ทุกวันเสาร์ เวลา 8:00 -16:00 น. เพื่อให้ชาวบ้านและชาวลาว ได้ซื้อขายสินค้าท้องถิ่น สินค้าอุปโภคบริโภค เกิดเป็นเศรษฐกิจการค้า รวมทั้งยังพัฒนาให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวของอำเภอเวียงสาไปสู่ สปป.ลาว แต่ผ่านมาแล้ว 10 ปี จังหวัดน่านยังไม่ออกประกาศเพื่อเปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านน้ำปี้ ซึ่งถือเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
ด้าน นายอาภรณ์ นิลศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดน่าน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานข้อเท็จจริงและผลการดำเนินการที่ผ่านมาตลอด 10 ปี ได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนบ้านน้ำปี้ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำมวบ ได้ขอใช้พื้นที่ป่า จำนวน 379 ไร่ และขอผ่อนผันปรับปรุงผิวเส้นทางระยะ 17 กิโลเมตร แต่ด้วยเส้นทางและจุดผ่อนปรนบ้านน้ำปี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และ อุทยานแห่งชาติแม่จริม และสภาพพื้นที่เป็นลุ่มน้ำคุณภาพชั้น 1A ที่ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งเรื่องแนวเขตและด้านความมั่นคง โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 13 (แพร่) แจ้งให้ อบต.น้ำมวบ ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.
โดยห้ามตัดถนนใหม่ ไม่ให้มีการขยายเส้นทางสัญจรขึ้นใหม่ แต่ให้ปรับปรุงผิวถนนแทนซึ่งต้องประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และต้องจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และให้ดำเนินการขอผ่อนผันการขอใช้พื้นที่ป่า ไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯตามลำดับขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งทาง อบต.น้ำมวบยังไม่สามารถดำเนินการตามมติที่ประชุมของจังหวัดน่านได้ จึงยังไม่สามารถออกประกาศเปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านน้ำปี้
หลังจากการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะทั้งหมด และสื่อมวลชนได้เข้าพื้นที่จริง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ระยะทาง 17 กิโลเมตร จากจุดแนวชายแดนแนวสันเขาเส้นยางแบ่ง ฝั่งไทย-ลาว จนถึงหมู่บ้านน้ำปี้ หมู่ที่ 5 ที่ขอเปิดจุดผ่อนปรนการค้า ซึ่งตลอดเส้นทางพบว่า พื้นที่กันนอกเขตป่าอนุรักษ์ติดหมู่บ้าน มีชาวบ้านทำพื้นที่การเกษตร ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลังและ ยางพารา แต่พื้นที่ป่าชั้นในจนถึงแนวชายแดน มีสภาพป่าไม้สมบูรณ์ มีไม้ขนาดใหญ่ และลำห้วยมากถึง 40 แห่ง ซึ่งหากมีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าที่บ้านน้ำปี้ ระยะทางจากแนวชายแดนเข้ามาถึงตัวด่าน มีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงด้านความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบแรงงานเถื่อน สิ่งของผิดกฎหมาย ยาเสพติดและอาชญากรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเวียงสาและจังหวัดน่าน
อย่างไรก็ตาม นายทิฆัมพร กล่าวว่า จากการรับฟังข้อเท็จจริงและการตรวจสอบสภาพพื้นที่ จะได้รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อประมวลผลให้รอบด้านเพื่อสรุปผลและนำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีคำวินิจฉัยต่อไป