คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน วุฒิสภา และ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ร่วมกับจุฬาฯ หารือแนวทางฟื้นโอกาสท่องเที่ยวเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หลังโควิด-19
วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา นำโดย นายจรินทร์ จักกะพาก สมาชิกวุฒิสภา และนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ร่วมกันหารือกับ ศ.ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะทำงานโครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หารือแนวทางการ “ฟื้นคืนจาก Covid 19” ด้านโอกาสการทำงานในภาคท่องเที่ยว ผ่านการสร้างเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืนของจังหวัดน่าน โดยนำแนวทางผลการดำเนินงานโครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2562-2565) รวมทั้งได้นำคณะอนุกรรมาธิการฯ ศึกษาดูงานที่โครงการได้ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2565 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือของจังหวัดน่าน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ของชุมชนในจังหวัดน่านต่อไป
โครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน อนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีความร่วมสมัย และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดน่านมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวคู่ขนานกัน โดยมีจุดเน้นบนฐานอัตลักษณ์ของน่าน ได้แก่ ด้านสิ่งทอ (Craft) และ หัตถกรรม ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอด้านสุขภาพ (Wellness) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร บริการเสริมสุขภาพ โฮมสเตย์ การท่องเที่ยวสีเขียว (Green) เศรษฐกิจหมุนเวียน และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นวัตกรรมขยะเป็นศูนย์ (Zero waste) และคาร์บอนต่ำ (Low carbon)
ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ ได้พัฒนากลไกการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง มีการออกแบบและทดลองจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานงานวิจัย ให้คำปรึกษา บริการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 8 (SDG goal 8 Decent Work and Economic Growth) ในด้านการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
จังหวัดน่าน แม้มีสถานะเป็นจังหวัดรองด้านการท่องเที่ยว แต่ถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วย เส้นทางเชื่อมโยงแหล่งวัฒธรรม และประวัติศาสตร์ที่นำมาเป็นเรื่องเล่า อัตลักษณ์วิถีชุมชนดั้งเดิม 5 ชุมชน ได้แก่ มณีพฤกษ์ ห้วยสะแตง ยอด บ่อเกลือใต้ และสันทะ รวมทั้งเส้นทางสายทุนวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เที่ยว ทัศน์ ทอ รักษ์สุขภาพ ประวัติศาสตร์หลวงติ๋น และวิถีชุมชนเกษตร
อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อการเสริมพลังและสร้างช่องทางรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้งจะทำให้ชุมชนมีรายได้สูงขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตรการพัฒนาจังหวัดน่าน และส่งเสริมการฟื้นคืนเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19
ร่วมแสดงความคิดเห็น
- Line