เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
ปภ. ประกาศเตือนพื้นที่ 10 จังหวัด ภาคเหนือ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 11-17 ส.ค. ภาคอื่นเฝ้าระวังระดับน้ำใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 เวลา 11.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานผลกระทบจาก “พายุมู่หลาน” ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 34 อำเภอ 109 ตำบล 609 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5,477 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย และน่าน รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 98 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,074 ครัวเรือน
โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “มู่หลาน” ที่ฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้มีพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 34 อำเภอ 109 ตำบล 609 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 5,477 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย และน่าน รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 98 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,074 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ ดังนี้
–เชียงราย ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จัน และอำเภอแม่สาย รวม 5 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 666 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
–น่าน ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าวังผา อำเภอภูเพียง และอำเภอเวียงสา รวม 13 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับ 408 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังในเขตพื้นที่อำเภอเมือง
จากสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำเหนือ เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,400 -1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตรา 1,000 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.60 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่อำเภอเสนา (ตำบลหัวเวียง บ้านกระทุ่ม บ้านโพธิ์ บ้านแพน ตะรางจระเข้) อำเภอผักไห่ (ตำบลบ้านใหญ่ ลาดชิด กุฎี ท่าดินแดง) อำเภอบางบาล (ตำบลวัดตะกู บ้านคลัง ทางช้าง น้ำเต้า) บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 600 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้เปิดพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ ต้องเฝ้าระวังในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง (ลุ่มเจ้าพระยา) และภาคใต้ดังนี้
จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 11-17 สิงหาคม 2565
จังหวัดพื้นที่ริมน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 13-18 สิงหาคม 2565
จังหวัดพื้นที่ท้าย เขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ 11 จังหวัด ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
จังหวัดพื้นที่ชายทะเล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ 22 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำและพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ช่วงตั้งแต่วันที่ 10-16 สิงหาคม 2565
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง “คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565” ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่ (https://awards.komchadluek.net/#)