น่าน สาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดน่าน จัดประชุมสามัญประจำปีพร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้สูงอายุสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯประจำจังหวัดน่าน และกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุและคลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัดน่าน พร้อมมอบเกียรติบัตรผู้สูงอายุดีเด่นระดับอำเภอ และระดับจังหวัด มอบเกียรติบัตรคลังปัญญาผู้สูงอายุดีเด่นระดับอำเภอและระดับจังหวัด และมอบเกียรติบัตรศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุระดับดีเด่น 1 แห่งและระดับดี 1 แห่ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ประจำจังหวัดน่าน คณะกรรมการชมรมคลังปัญญาผู้สูงอายุจังหวัดน่าน ชมรมผู้สูงอายุ เครือข่ายคลังปัญญาผู้สูงอายุ เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้สูงอายุทุกอำเภอ รวมจำนวนทั้งสิ้น 250 คน เข้าร่วมการกิจกรรม
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ประจำจังหวัดน่าน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะ ความรู้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุแสดงศักยภาพ นำความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่สั่งสม เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวัย และคนทุกวัย รวมทั้งเพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของผู้สูงอายุ ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุนำศักยภาพความสามารถที่มีอยู่ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นผู้สูงอายุ
เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ กล่าวคือมีผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ และที่สำคัญสถานการณ์ด้านผู้สูงอายุของภาคเหนือรวมถึงจังหวัดน่าน ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าภาคอื่นๆ ถึง 10 ปี ทั้งนี้จังหวัดน่านมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 103,717 คน คิดเป็น ร้อยละ 21.80 ของประชากรของจังหวัดน่าน ซึ่งตามคำนิยามหรือความหมายการจัดระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขององค์การสหประชาชาติ (UN) นับว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์แล้ว จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาในการปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน ทั้งในด้านความคิด ความเข้าใจ และค่านิยมต่างๆ ประกอบกับวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องเผชิญกับรูปแบบของการดำเนินชีวิตแบบใหม่ การจัดสวัสดิการสังคมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องการให้ผู้สูงอายุ มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในด้านภูมิความรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา สมควรส่งเสริมให้เป็นทรัพยากรที่เข้มแข็งและมีคุณค่าให้ยาวนานที่สุด เพื่อที่จะได้นำจุดแข็งนี้มาสร้างโอกาสในการพัฒนาสังคม และร่วมดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดปิติสุข ได้บริหารกาย จิต สังคม ปัญญา เป็นบุคคลที่พัฒนาให้สอดคล้องตามกาลสมัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตัวเองได้ และร่วมเป็นพฤฒพลัง (Active Aging) ในการพัฒนาชุมชนและสังคมต่อไป
ร่วมแสดงความคิดเห็น
- Line