จากบ้านป่าถึงคาเฟ่ : อนาคตเกษตรกรที่สูง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากาแฟเป็นธุรกิจเนื้อหอมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการลงทุนในเมือง เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ดูดี ทันสมัย และสร้างรายได้สูง เมื่อพิจารณาว่ากาแฟในคาเฟ่หรูหนึ่งแก้วสามารถซื้อข้าวมันไก่ร้านข้างถนนได้ถึง 3-5 จานด้วยกัน แต่กาแฟไม่เป็นแต่เพียงโอกาสของคนในเมืองเท่านั้น ยังเป็นโอกาสของคนชนบทบนที่สูงที่ห่างไกล แต่มีสภาพพื้นที่ที่และอากาศที่เหมาะสมที่จะผลิตกาแฟอราบิก้าซึ่งเป็นกาแฟพรีเมียมได้
ในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการเมล็ดกาแฟประมาณ 8 หมื่นตันต่อปี ซึ่งในขณะนี้เราผลิตได้เพียง 2 หมื่นตันต่อปี โอกาสทางตลาดภายในประเทศก็ยังมีอยู่มาก และหากคิดไปว่าคนจีนจำนวนพันกว่าล้านคนซึ่งในอนาคตคนรุ่นใหม่คนจีนจะเปลี่ยนจากการบริโภคชามาเป็นกาแฟบ้างก็ยิ่งจะทำให้ความต้องการดื่มกาแฟนั้นมีสูงขึ้นอีก
กาแฟที่ไทยผลิตได้มีอยู่ 2 พันธุ์ด้วยกันคือ โรบัสต้า ซึ่งปลูกมากที่ภาคใต้และใช้ในการผลิตกาแฟสำเร็จรูป ส่วนกาแฟอราบิก้าเป็นกาแฟที่ปลูกมากในภาคเหนือตอนบนและได้ผลที่มีคุณภาพดีและใช้เป็นหลักในการผลิตกาแฟพรีเมียมที่เสิร์ฟกันในร้านกาแฟหรูในเมือง เนื่องจากกาแฟพันธุ์อราบิก้าปลูกในพื้นที่สูงของประเทศไทยที่มีสภาพอากาศเหมาะสม กาแฟพันธุ์นี้จึงเป็นทางเลือกและทางรอดสำคัญของเกษตรกรบนที่สูง ในปัจจุบันเกษตรกรขายกาแฟเป็นผลสดหรืออย่างมากก็ขายกาแฟกะลา ซึ่งจะได้รายได้ดีขึ้นกว่าการขายผลสด
คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า ในกาแฟหนึ่งแก้วที่ขายกันอยู่ในคาเฟ่หรูในเมืองนั้นเกษตรกรมีส่วนที่จะได้ผลตอบแทนจากการผลิตเมล็ดกาแฟคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่
ผลการศึกษาโครงการการพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ของทีม ม.แม่โจ้ นำโดย รศ.ดร.ศิริพร กีรติการกุล พบว่า ในกาแฟที่ขายในคาเฟ่หรู 1 แก้ว ราคา 100 บาท รายได้สุทธิที่จะตกถึงมือเกษตรกรประมาณ 4.50 บาท
เกษตรกรในที่สูงในจังหวัดน่านมีรายได้จากภาคเกษตรประมาณ 80,000-100,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน เกษตรกรในที่สูงในภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีที่ทำกินประมาณ 15-30 ไร่ พึ่งพิงน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสำคัญ และส่วนใหญ่มีหนี้ ธ.ก.ส. สะสมประมาณ 100,000-200,000 บาทต่อครัวเรือน แล้วยังมีหนี้กองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 50,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งหนี้เหล่านี้ก็เป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ
การปรับการผลิตจากกาแฟผลสดไปเป็นกาแฟกะลาที่บ้านน้ำพัน จ.น่าน โดยการสนับสนุนของแผนงานคนไทย 4.0 และอาศัยงบยุทธศาสตร์จังหวัดน่านที่สนับสนุนอุปกรณ์การแปรรูป ทำให้ทีมแม่โจ้สามารถเข้าไปพัฒนาห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพการปลูกจนเป็นผลสด และแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วสำเร็จรูปในลักษณะของ Drip coffee ภายใต้แบรนด์กาแฟบ้านป่า สามารถเพิ่มรายได้ให้หมู่บ้านที่ผลิตกาแฟที่บ้านน้ำพันจังหวัดน่านจาก 24 ล้านบาท เป็น 28 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ซึ่งจำนวนร้อยละที่เพิ่มนี้คิดจากห่วงโซ่การผลิตทั้งห้าห่วง ตั้งแต่กาแฟสดไปจนถึงผลิตภัณฑ์กาแฟ จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 34.28 บาทต่อ 1 กิโลกรัมของกาแฟสด
แต่ในสองห่วงโซ่สุดท้ายของการศึกษานี้ได้แก่ การแปรรูปกาแฟกะลาเป็นกาแฟคั่วและการแปรรูปกาแฟคั่วเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟบรรจุซองประเภทดริป ยังมีตลาดค่อนข้างแคบและอาศัยการขายออนไลน์ ดังนั้น จึงยังมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าสูงกว่านี้ถ้าขยายตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟแปรรูปแบบซองออกไปได้อีก
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า กาแฟสามารถเพิ่มรายได้เกษตรกรจากไม่ถึง 1 แสนบาทเป็น 2.5-3 แสนบาทต่อครัวเรือน เมื่อการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ให้ครบ 5 ห่วงจะเพิ่มมูลค่าให้กับครัวเรือนมากขึ้น การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายจะทำให้เกษตรกรสามารถได้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างผู้ผลิตต้นน้ำกับผู้ขายปลายน้ำ แต่ต้องอาศัยการทำการตลาดและการเข้าใจการตลาดของกาแฟอย่างชัดเจน
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมการเกษตรของรัฐที่ทำอยู่สามารถทำได้ดีสำหรับพืชใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งตลาดได้แพร่กระจายไปทุกที่ แต่สำหรับพืชรองหรือพืชใหม่ เราไม่มีกลไกในการจัดการพืชใหม่หรือพืชที่ยังไม่มีตลาดในพื้นที่ เพราะว่าการทำงานของกระทรวงต่างๆ ทำงานเป็นแท่งๆ ไม่สามารถทำงานควบรวมการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ผู้ผลิตต้นน้ำไปจนถึงผู้บริโภคปลายน้ำ กระทรวงต้นน้ำเข้ามาสนับสนุนพันธุ์หรือการผลิตแล้วก็จากไปโดยไม่ได้ดูว่าผลผลิตที่ได้นั้นตอบสนองตลาดปลายทาง ซึ่งมีหลากหลายเกรดได้อย่างไร ส่วนกระทรวงที่ส่งเสริมการขายนั้นก็ปักหลักอยู่ในเมืองหรือปักหลักอยู่ที่ตลาด และเข้าไม่ถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งพยายามกระเสือกกระสนที่จะนำสินค้าออกไปสู่ตลาดปลายทางได้ ยิ่งในอนาคตเกษตรกรรายย่อยจะต้องเข้าไปผลิตสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ (Niche market) ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า ตลาดเกษตรแบบมีสีสัน คือมีความเฉพาะตัวของสินค้ามีคุณภาพที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคบางประเภท เช่น กาแฟเกรดพรีเมียม หรือเกษตรอินทรีย์
คำถามก็คือว่าใครจะเข้ามาปิดช่องว่างเหล่านี้เพื่อให้เกษตรกรไปต่อได้ บุคลากรจากมหาวิทยาลัยก็เป็นคำตอบหนึ่ง แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วงานวิจัยไม่ได้มีระบบและงบประมาณให้เข้าไปพัฒนาต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งหลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้นลง และต้องปรับปรุงการให้ทุนในข้อนี้
อีกทางออกหนึ่งก็คือการใช้พลังของตลาด เช่น อีคอมเมิร์ซ เป็นตลาดที่ทำให้เกษตรกรสามารถขายตรงได้ แต่ตลาดอีคอมเมิร์ซหรือแม้แต่การขายตรงในโซเชียลมีเดีย ก็ต้องมีการฝึกอบรมเกษตรกรหรือกลุ่มชมรมวิสาหกิจชุมชนให้มีความสามารถนำสินค้าสู่ตลาดได้
ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือการขายผลิตภัณฑ์กาแฟแบบขายตรงในตลาดอีคอมเมิร์ซให้กับผู้บริโภค หรือขายผ่าน Facebook ได้ แต่ยังมีผลิตภัณฑ์เกษตรอีกมากมาย ซึ่งชาวบ้านและผู้รวบรวมในท้องถิ่นสามารถที่จะได้ข้อมูลและเข้าถึงผู้ผลิตมากขึ้น การพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซระดับเกษตรกรกับผู้รวบรวมสินค้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและหากศึกษาโอกาสความเป็นไปได้
เราอาจจะมีโอกาสได้เกษตรกรที่สูง 4.0 ที่ลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ