ศบค. เจออีก 3 คลัสเตอร์ใหม่ ใน 3 จังหวัด บริษัทปิโตรเลียม อาหารสำเร็จรูป บริษัทเครื่องดื่ม เผยภูเก็ตเจอลูกเรือสินค้าเดินทางมาจากเมียนมาติดเชื้อถึง 16 ราย เผยมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย และหญิงตั้งครรภ์อีก 2 ราย ระบุ 29 จังหวัดยังฉีดวัคซีนผู้สูงอายุต่ำกว่าเป้าหมาย
วันที่ 11 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า วันนี้ สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 21,038 ราย หายป่วยแล้ว 572,726 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 788,126 ราย เสียชีวิตสะสม 6,701 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 600,152 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 816,989 ราย เสียชีวิตสะสม 6,795 ราย
ยอดป่วยหนัก 5,407 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,094 ราย
สำหรับผู้ป่วยที่ยังยังรักษาตัวอยู่มีจำนวน 210,042 ราย อยู่ใน รพ. 61,384 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 148,658 ราย อาการหนัก 5,407 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,094 ราย
ส่วนผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 364,685 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 125,685 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 56,474 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 10 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 21,717,954 โดส
“เป้าหมายของเราต้องการให้เข็มที่ 1 ในกลุ่มคนสูงอายุ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นไปได้ภายในช่วงเวลาเดือนนี้ถึงเดิอนหน้ากันยายน จะต้องฉีดให้ได้มากกว่า 50-60% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า ถ้าเราทำได้ เราอาจจะเห็นยอดของผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง
อันดับไทยขยับขึ้นที่ 35 ของโลก
ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 204,776,810 ราย อาการรุนแรง 100,832 ราย รักษาหายแล้ว 183,899,166 ราย เสียชีวิต 4,326,877 ราย
สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น สหรัฐอเมริกา จำนวน 36,892,215 ราย 2.อินเดีย จำนวน 32,033,333 ราย 3.บราซิล จำนวน 20,213,388 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 6,491,288 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 6,339,509 ราย
ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 816,989 ราย
ภูเก็ตเจอลูกเรือติดเชื้อโควิด 16 ราย
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในวันนี้ มีมาจากดูไบ 1 ราย อิสราเอล 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ เข้าพักใน รพ.เอกชนใน กทม. ส่วนรายอิสราเอลอยู่ระหว่างประสานโรงพยาบาล
แต่มีที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดภูเก็ตมี 16 ราย เดินทางมาจากประเทศเมียนมา สัญชาติไทย เดินทางมากับเรือสินค้า เป็นลูกเรือสินค้าต่างประเทศ ผลตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ 3 ราย และพบมีอาการ 13 ราย พักอยู่ใน ASQ รพ.วชิระภูเก็ต
10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม.ยังมาเป็นอันดับ 1 จำนวน 4,525 ราย รวมยอดสะสม 193,855 ราย รองลงมาเป็นสมุทรสาคร 1,683 ราย สมุทรปราการ 1,388 ราย ชลบุรี 1,368 ราย นนทบุรี 691 ราย อยุธยา 580 ราย ปทุมธานี 512 ราย ฉะเชิงเทรา 467 ราย อุบลราชธานี 420 ราย และราชบุรี 399 ราย
“อุบลราชธานีที่สอดแทรกเข้ามา ก็มาจากปรากฎการณ์การเคลื่อนย้ายของแรงงานกลับไปบ้านตามโครงการรับกลับบ้าน ทำให้มียอดเพิ่มเข้ามา รวมถึงราชบุรีก็เพิ่มขึ้นด้วย” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว
พบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่ม 3 แห่ง 3 จังหวัด
สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ในวันนี้ มีจำนวน 3 แห่ง ใน 3 จังหวัด เป็นบริษัทปิโตรเลียม บริษัทอาหารสำเร็จรูป และบริษัทเครื่องดื่ม ได้แก่
- สมุทรสาคร อ.เมือง เป็นบริษัทปิโตรเลียม พบผู้ติดเชื้อ 19 ราย
- ราชบุรี อ.เมือง บริษัทอาหารสำเร็จรูป พบผู้ติดเชื้อ 32 ราย
- ปราจีนบุรี อ.บ้านสร้าง เป็นบริษัทเครื่องดื่ม พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย
“สมุทรสาคร ราชบุรี ปราจีนบุรี ส่วนใหญ่อยู่ในโรงงาน ถึงมีความสำคัญ ต้องทำบับเบิ้ลแอนด์ซีล ต้องขอให้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับนายจ้าง เพราะหลายแห่งต้องปิดโรงงานไปถ้าการระบาดยังสูง แต่หลายแห่งอาจจะไม่ปิดถ้าจะนวนการระบาดไม่มากก็ทำบับเบิ้ลแอนด์ซีลด์ คือแยกคนป่วยออกมาแล้วเครื่องจักรยังเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้การส่งออกและอุตสาหกรรมเดินต่อไปได้ เพราะปิดไปทั้งหมดจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยได้”
นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่วันนี้อยู่ใน กทม. จากจำนวน 207 ราย อยู่ใน กทม. 60 ราย จังหวัดปริมณฑล เช่น สมุทรปรากร สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี รวมกัน 64 ราย ภาคใต้ ที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช รวมกัน 16 ราย ที่เหลือกระจายไปในอีกหลายจังหวัด (ตามตาราง)
29 จังหวัดยังฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมาย
“คนเสียชีวิต สว่นใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล ส่วนใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไปและอยู่ใน 7 โรคเรื้อรัง รวมแล้วถึง 85%” นายแพทย์ทวีศิลปิกล่าว และว่าวันนี้ยังมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย อยู่ในกทม.และนครศรีธรรมราช และมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย อยู่ใน กทม. และอ่างทอง
“ตรงนี้ถึงอยากเน้นย้ำว่า วัคซีนที่ได้มา นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้ว ในส่วนของประชาชนทั่วไปขอให้เน้นย้ำที่เป็นโรคเรื้อรัง รวมหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน ช่วยกรุณาพาเขาไปฉีดวัคซีนที่สถานบริการโดยด่วน เพราะฉีดวันนี้ต้องใช้เวลาสร้างภูมิ กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2- 4 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้
นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลพบว่า การให้วัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 29 จังหวัด เกือบทุกจังหวัดยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก (ตาราง) ยกเว้น กทม. ซึ่งตามเป้าหมายต้องทำให้ได้ 80%
13 จังหวัด เตียงพร้อมใช้ยังวิกฤต
นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า จากการทำข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้เตียง พบว่าช่วงระหว่างวันที่ 30 ก.ค. – 5 ส.ค. หรือสัปดาห์ที่ 33 ของปีนี้ พบการติดเชื้อทั้ง 77 จังหวัด เฉลี่ย 18,000 รายต่อวัน การใช้เตียงเดิมกระจุกตัวใน กทม.และปริมณฑล ก็กระจายออกไปตามภูมิภาค ส่วนใหญ่ไปทางอีสาน เนื่องจากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานใน กทม.และปริมณฑล
ทำให้สถานการณ์เตียงอยู่ในระดับสีแดง คือเตียงพร้อมใช้น้อยกว่า 20% มี 13 จังหวัด คือ อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, หนองคาย, มหาสารคาม, นครสวรรค์, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, นครนายก, พิจิตร, สมุทรสาคร และภูเก็ต (ดูตารางท้ายข่าว)
ส่วนสีส้ม คือเตียงพร้อมใช้ 21-40% มี 23 จังหวัด ได้แก่ กทม., นนทบุรี, ปทุมธานี, ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด, นครราชสีมา, สุรินทร์, อุบลราชธานี, ยโสธร, ชัยภูมิ, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, เลย, นครพนม, มุกดาหาร, อุทัยธานี, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, ยะลา และนราธิวาส
ส่วนเตียงสีเหลือง พร้อมใช้ 41-60% มี 19 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ, สิงห์บุรี, สระบุรี, ระยอง, ปราจีนบุรี, ศรีสะเกษ, สกลนคร, ลำปาง, อุตรดิตถ์, น่าน, พะเยา, ตาก, พิษณุโลก, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, นครศรีธรรมราช, พังงา, ระนอง และสงขลา ส่วนจังหวัดที่เหลือเป็นเตียงสีเขียว เตียงพร้อมใช้มากกว่า 60%
ภาพรวมอาการหนักที่ต้องใช้เตียง 5,005 ราย ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคกลาง โดย จ.นครปฐม พบมากที่สุด คือ อาการหนักมากกว่า 10% ส่วนที่ไม่พบอาการหนักมี 2 จังหวัด คือ กระบี่ และพัทลุง สำหรับการเสียชีวิต ที่มีอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนการป่วยค่อนข้างมากที่เกินกว่าเส้นแดงคือ 1% คือ เพชรบุรี 3.4% และอุบลราชธานี 2.5%
ส่วนอัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากร พบว่ากระจุกตัวในภาคกลาง โดยจังหวัดที่อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 5 ต่อแสนประชากร มี 3 จังหวัด คือ กทม. อยู่ที่ 6.85 ต่อแสนประชากร , สมุทรสาคร 6.18 ต่อแสนประชากร และปัตตานี 5.11 ต่อแสนประชากร
ส่วนเสียชีวิต 3-5 ต่อแสนประชากร มี 3 จังหวัด คือ นครนายก สมุทรปาการ และอ่างทอง เสียชีวิต 1.5-3 ต่อแสนประชากร มี 6 จังหวัด คือ ตราด, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, ยะลา และสุโขทัย และน้อยกว่า 1.5 ต่อแสนประชากรมี 53 จังหวัด
และไม่พบผู้เสียชีวิต 12 จังหวัด คือ จันทบุรี, น่าน, บึงกาฬ, พะเยา, พังงา, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ลพบุรี และลำพูน
ส่วนภาพรวมระดับโลก เราเสียชีวิตอยู่ที่ 89 ต่อล้านประชากร อันดับ 148 ของโลกอันดับหนึ่งคือเปรู 5,881 ต่อล้านประชากร
-
จับตาจัดซื้อ ATK พันล้าน ลดสเป็ก-เปิดประมูล ใครได้ใครเสีย !