ในที่สุดรัฐสภา นำโดย ส.ว. 250 คน จับมือพรรคพลังประชารัฐ ชนะโหวตด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 เสียง ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ไฮไลต์การอภิปรายปมรัฐธรรมนูญร้อน ที่พรรคขั้วรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ยกให้เป็นความเห็นที่สำคัญคือ การอภิปรายของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขิงแก่แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มต้นอภิปรายว่า ญัตติดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เนื่องจากมาตรา 156 ที่กำหนดเรื่องให้ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไม่มีเนื้อหาดังกล่าวบัญญัติไว้ แม้มาตราดังกล่าวจะระบุเปิดช่องให้เรื่องอื่นตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
เชื่อว่ามีเพียงประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ หากถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะเสียเปล่าเพราะขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้นดำเนินการไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ทั้งรัฐสภารับหลักการ มีกระบวนการแปรญัตติ และรอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาวาระสองและวาระสาม
“บัญญัติ” ยกตัวอย่าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแม้รัฐธรรมนูญในอดีตที่สามารถทำโดย โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในเวลานั้นไม่มีบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ในปี 2491 เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ในปี 2539 เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
ส่วนกรณีที่อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 ที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติจากประชาชน ตนถือเป็นคำวินิจฉัยที่ชี้ว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำได้โดยชอบธรรมครบถ้วน โดยให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เพราท้ายที่สุดก็ไปสู่ประชาชนด้วยการลงประชามติ
ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องรัฐประหาร
ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคเบอร์สองฝ่ายค้าน ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรายอมรับการตีความแบบนี้ หมายความว่าประเทศไทยจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ด้วยการรัฐประหาร ฉีกรับธรรมนูญเท่านั้นใช่หรือไม่ นี่คือความหมายที่แท้จริงของการยื่นญัตตินี้
“ปัจจุบันเครือข่ายรัฐประหารสามารถยึดกุมอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้ง และรัฐสภาได้ พื้นที่การเมืองเกือบทั้งหมดอยู่ในมือพวกท่าน แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ยังมีความกังวลว่าจะอยู่ในมือพวกท่านอีก แต่ท่านยังจะใช้สถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือเพื่อกินรวบพื้นที่การเมือง หากยังดื้อดึง ความขัดแย้งทางการเมืองมีแต่จะพาพวกเราไปสู่ทางตัน ขอเรียกพวกเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่จะแสดงว่าเป็นผู้มีจิตใจประชาธิไตย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติทำได้ในรัฐสภา อย่าทำให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ต้องทำผ่านการรัฐประหารอีกเลย” นายพิธากล่าว
จวกใช้แผนดีเลย์แทคติก
“ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนพรรค ว่า พรรคได้คะแนน 3 ล้าน 7 แสนคน เพราะเรายืนยันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคมีจุดยืน ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งการให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งประเทศ แล้วยกร่างเสร็จก็กลับไปถามประชาชน ในเรื่องของประชามติ เป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน เจ้าของอำนาจที่แท้จริง
“วันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเรามีความจริงใจที่มีต่อประชาชนหรือไม่ หรือเป็นการใช้ดีเลย์แท็กติกให้การแก้ไขช้าไปหรือไม่ เป็นสิ่งที่พรรคภูมิใจไทยเป็นห่วง เราเห็นว่าบ้านเมืองต้องเดินหน้าไม่ควรสะดุดแบบนี้ ก็อยู่ที่ว่า พวกเราจะเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดปัญหานั้น เราควรช่วยดึงฟืนออกจากกองไฟ เราไม่ต้องการสุมไฟให้เกิดการลุกโชนขึ้นอีก และบางคนบอกว่าถ้าเรามีการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ต่อไปก็ถูกดำเนินคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเราทุกคนก็พร้อมหากจะถูกดำเนินคดี เราพร้อมยืนหยัดสู้กับความไม่ถูกต้องตรงนั้น”
ฉะใช้ รธน.เก่าคุมเลือกตั้ง 2566
“ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ส่วนใหญ่สมาชิกสภาอภิปรายไม่เห็นด้วยกับญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนบอกว่าเพื่อความรอบคอบ เพื่อความสบายใจ ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และจะไม่กระทบต่อการพิจารณาวาระที่ 2-3
ถ้ามีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราคิดว่าจะได้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 สิ่งที่เราจะได้คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 เพราะดูขั้นตอนเราจะลงมติ 2-3 วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ และเปิดประชุมสมัยวิสามัญ 17-18 มีนาคม เพื่อให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3
หลังจากนั้นเข้าสู่การประชามติ ร่างกฎหมายประชามติที่กำลังจะออกกำหนดให้มีการทำประชามติภายใน 90 วัน ไม่เกิน 120 วัน ตีไว้ว่า 3 เดือน มิถุนายน จะได้ทำประชามติ หลังจากนั้นโปรดเกล้าฯ สิงหาคม- กันยายน หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใช้เวลา 90 วัน ดังนั้น พฤศจิกายน – ธันวาคม ถึงจะตั้ง ส.ส.ร.ได้ซึ่งใกล้ปี 2565
“ถ้าทำอย่างนี้ จะได้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2566 เพราะต้องไปทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรองรับอีกหลายเดือน คือผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ ถ้าจะอาศัยช่องว่างดึงจังหวะเวลามีผลกระทบทั้งหมด” นายชลน่าน กล่าว
ส.ว.ยันหัวชนฝาต้องส่งศาล
ฟากฝั่ง ส.ว. ตอบโต้เป็นระยะ อ่านนัยยะแห่งการอภิปราย ผ่านแกนนำ ส.ว. เช่น “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ส.ว.กล่าวว่า ที่กังวลว่าการยื่นญัตติครั้งนี้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป เป็นการสื่อสารที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะหากส่งศาลไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 1 ไปแล้วและประธานรัฐสภาบรรจุวาระการประชุม 24-25 กุมภาพันธ์แล้ว
ส่วนรัฐสภาแห่งนี้มีอำนาจพิจารณาญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ได้พยายามศึกษาดูการยื่นญัตติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(2) และมาตรา 41(4) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ให้รัฐสภามีอำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลหาข้อยุติให้ ดังนั้น ตนเห็นว่าที่ประชุมมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ตราบใดที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นเอกสิทธิ์ที่รัฐสภาจะทำหน้าที่ต่อไป
ขณะที่ “เสรี สุวรรณภานนท์” แกนนำ ส.ว.อีกราย อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง ส.ส.ร.แต่ด้วยความไม่ชัดเจน ถ้าเราทำให้ชัดเจน ข้อเรียกร้องในปัจจุบัน ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองปัจุบันเป็นปัญหาทางการเมืองที่ต้องชัดเจน ดังนั้นความขัดแย้งในบ้านเมือง ก็ต้องสร้างความชัดเจนส่งให้ศาลรัฐลรรมนูญวินิจฉัย จึงเห็นว่าญัตตินี้ได้ประโยชย์มากกว่าเสียประโยชน์ มีข้อดีมากว่าข้อเสีย
“สมชาย แสวงการ” ส.ว.กล่าวสรุปว่า ยืนยันตลอดที่ทำหน้าที่รัฐสภา ตนเห็นด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทำได้ แต่ไม่อนุญาตให้ทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตนได้ศึกษาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย จริงอยู่ที่สมาชิกหลายคนบอกว่าสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญภายหลังก่อนนายกฯ ทูลเกล้าได้ แต่ถ้าถึงขั้นตอนนั้นกระบวนการล้มขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร ยืนยันว่า ไม่ได้เตะถ่วง การยื่นศาลรัฐธรรมนูญนี้สำคัญอย่างยิ่งว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ ๆ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ – พรรคภูมิใจไทย มีมติพรรคส่วนรัฐบาล ไม่ต้องการให้เรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ที่สุดแล้ว ประชุมรัฐสภามีการลงมติ เห็นด้วยกับญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม ด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 696 เสียง
พรรคพลังประชารัฐ 120 เสียง บวกกับ ส.ว.250 คน ก็ฝ่าด่าน ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ไม่ยาก